ข้อมูลทั่วไป 2024-04-30 09:36:00    104      ผู้ดูแลระบบ

หลักการและเหตุผล

          โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขั้นสูง (Super tertiary care) มีหน้าที่ให้บริการและรับส่งต่อผู้ป่วยที่มีความยากหรือมีปัญหาซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ประกอบด้วย สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาด้านงานอนามัยแม่และเด็ก โดยมีอัตราตายของมารดาสูงที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันพบว่าภาวะรกเกาะต่ำร่วมกับการมีรกเกาะลึกเป็นสาเหตุสำคัญซึ่งเกิดจากการมีปัจจัยร่วมที่สำคัญคืออุบัติการณ์การผ่าตัดคลอดที่สูงขึ้น

          ความเสี่ยงของสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะลึกเกิดจากการตกเลือดอย่างรุนแรงในระหว่างการคลอด จำเป็นต้องให้เลือดปริมาณมาก และมีความจำเป็นต้องตัดมดลูก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตของสตรีตั้งครรภ์ได้ โดยอาจเกิดขึ้นระหว่างการคลอดทางช่องคลอดหรือการคลอดโดยการผ่าตัดคลอดก็ได้ การดูแลภาวะรกเกาะลึกจำเป็นต้องให้การดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญสหสาขา (multidisciplinary care team) เพื่อลดการเกิดภาวะบาดเจ็บทุพพลภาพ และการเสียชีวิตจากการคลอด โดยจากการศึกษาที่ผ่านมาในต่างประเทศพบว่า หากสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะลึกได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษาโดยแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญสหสาขาและโรงพยาบาลที่มีความพร้อมจะช่วยลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตในสตรีตั้งครรภ์ที่มีรกเกาะลึกได้ โดยคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญสหสาขา

          จากรายงานอุบัติการณ์ของการผ่าตัดคลอดทั่วโลกพบว่ามีอุบัติการณ์สูงขึ้นเป็นร้อยละ 45 และสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ในประเทศที่มีเศรษฐานะปานกลาง ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์สูงขึ้นเช่นเดียวกันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือ ร้อยละ40-50 ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมินั้นมีรายงานการผ่าตัดคลอดร้อยละ 55-60 เนื่องจากได้รับการส่งต่อสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงจากพื้นที่เขต 12 จึงเป็นสาเหตุให้มีอัตราการเกิดภาวะรกเกาะลึกเพิ่มขึ้นอย่างมาก คิดเป็น 1: 119 รายของการคลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และได้ทำการรักษาสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะลึกจำนวนกว่า 200 ราย ซึ่งนับว่ามีอุบัติการณ์สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยปัจจุบันทั่วโลกมีอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ 1 ต่อ 532 รายของการคลอดมีชีพ โดยสูงกว่ารายงานก่อนหน้านี้เมื่อ 10 ปีที่แล้วคือ 1 ต่อ 2,000 รายของการคลอดมีชีพ

          การดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะลึกที่เหมาะสมเพื่อลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตระหว่างการคลอดควรได้รับการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญและเป็นการทำงานร่วมกันโดยบุคลากรทางการแพทย์สหสาขา โดยสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะลึกทุกรายควรได้รับการวินิจฉัยก่อนคลอด โดยในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์สูติแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์เป็นผู้ให้การวินิจฉัย และหากสงสัยภาวะรกเกาะลึกลุกล้ำเข้าสู่อวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานจะได้รับการส่งตรวจ MRI และทำการวินิจฉัยโดยรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านผล MRI โดยเฉพาะ ภายหลังการวินิจฉัยสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะลึกจะได้รับการเตรียมตัวเพื่อการรักษาโดยการผ่าตัดคลอดระหว่างอายุครรภ์ 34-36 สัปดาห์ โดยมีการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด การเตรียมเลือดและสารประกอบของเลือดจำนวนมากก่อนการผ่าตัดโดยหน่วยคลังเลือดให้เพียงพอโดยเฉพาะรายที่ได้รับการวินิจภาวะรกเกาะลึกชนิดรุนแรง มีการสำรองเตียงศัลยกรรมผู้ป่วยวิกฤตหลังผ่าตัดในรายที่การผ่าตัดมีภาวะแทรกซ้อนหรือตกเลือดรุนแรง มีการแจ้งกุมารแพทย์หน่วยทารกแรกแรกเกิดล่วงหน้าเพื่อการดูแลทารกแรกเกิดหลังคลอด เนื่องจากการคลอดสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะลึกเกือบทุกรายเป็นการคลอดก่อนการกำหนด ในกรณีที่สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะลึกแบบรุกล้ำเข้าสู่อุ้งเชิงกรานจะมีการแจ้งศัลยแพทย์ทั่วไป ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือด หรือศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อร่วมกันผ่าตัด โดยคณะแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดหลักจะเป็นสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวชโดยเฉพาะและมีประสบการณ์ในการผ่าตัดที่มีความซับซ้อน เช่น  กรณีสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะลึก หากภายหลังการผ่าตัดมีภาวะตกเลือดอย่างต่อเนื่องมีความจำเป็นต้องให้การรักษาโดยการหยุดเลือดด้วยวิธีรังสีร่วมรักษาเช่น การยิงสารเพื่ออุดเส้นเลือด รังสีแพทย์ร่วมรักษาจะเป็นผู้ให้การรักษาร่วม ดังนั้นภาวะรกเกาะลึกจึงเป็นโรคที่มีความซับซ้อนและต้องให้การรักษาร่วมกันระหว่างแพทย์สหสาขาในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ

          จากผลการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมาพบว่า ไม่มีการเสียชีวิตของสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะลึก โดยเฉพาะผลการรักษาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภายหลังมีการจัดทำงานร่วมกันโดยทีมสหสาขาพบว่ามีผลการรักษาดีขึ้นมาก โดยพบว่าการวินิจฉัยก่อนคลอดมีความแม่นยำร้อยละ 96 มีอัตราการเสียเลือดมากกว่า 5,000 มล. ร้อยละ 2.4 มีการบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียงระหว่างการผ่าตัดร้อยละ 0.6 และอัตราการให้เลือดมากกว่า 6 ถุง ร้อยละ 4  โดยปัจจุบันโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นศูนย์ที่ให้การวินิจฉัยและรักษาภาวะรกเกาะลึกทุกรายที่ได้รับการส่งต่อมาจากโรงพยาบาลในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 และมีผลการรักษาที่ดีเท่าเทียมหรือดีกว่าศูนย์ให้การดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะลึกระดับนานาชาติ